Home Blog หลายคนคงสงสัย...

หลายคนคงสงสัยว่าทำไมสีที่พิมพ์ไม่ตรงกับสีในไฟล์ ไม่เหมือนกับงานที่ออกแบบไว้ในคอมพิวเตอร์

เชื่อว่าหลาย ๆ คน อาจจะเคยเจอปัญหาสีของงานพิมพ์ไม่ตรงตามไฟล์ สีเพี้ยน สีตุ่น สีจืด ไปจากที่คุณเห็นจากการออกแบบผ่านทางหน้าจอ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้สีเพี้ยน สีไม่ตรงนี้มีได้หลายสาเหตุด้วยกัน ดังนั้น ในวันนี้เราก็จะมาไขข้อสงสัยว่า ลูกค้าสามารถที่จะทำอะไรได้บ้างเพื่อควบคุมสีออกมาให้ตรงใจที่สุด และลดปัญหาความเพี้ยนสีให้ได้มากที่สุดจากการเตรียมไฟล์สำหรับพิมพ์ เพื่อไม่ให้งานพิมพ์ชิ้นต่อไปของคุณมีสีเพี้ยน และต้องสั่งพิมพ์ใหม่ ถ้าอยากรู้คำตอบแล้ว ไปดูพร้อมกันเลยค่ะ

ทำไมสีที่พิมพ์ไม่ตรงกับสีในไฟล์ ไม่เหมือนกับงานที่ออกแบบไว้ในคอมพิวเตอร์

ระบบสี RGB vs ระบบ CMYK

ระบบสี RGB เป็นสีที่ใช้ในการแสดงบนรูปภาพ และบนหน้าจอแสดงสี หรือบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยระบบสี RGB มีสีที่ผสมกันทั้งหมด 3 สี คือ Red (สีแดง) Green (สีเขียว) และ Blue (สีน้ำเงิน) ซึ่งการผสมสีทั้งสามในสัดส่วนต่าง ๆ ทำให้สามารถได้เฉดสีทั้งหมดประมาณ 16.8 ล้าน เฉด เพราะว่าสีเหล่านี้คือสีพื้นฐานกายภาพ ทุกรูปในอุปกรณ์ดิจิตอลใช้สีเหล่านี้เป็นปกติธรรมดา เช่น รูปถ่ายจากกล้องดิจิตอลหรือโทรศัพท์มือถือ

ระบบสี CMYK เป็นสีที่ใช้ในด้านการพิมพ์ และการแสดงสีในแบบรูปจำลองกราฟฟิคสามมิติ โดยระบบสี CMYK ย่อมาจาก Cyan (สีฟ้า) Magenta (สีแดงอมม่วง) Yellow (สีเหลือง) และ Key (สีดำ) ซึ่งเป็นชื่อสีที่นำมาใช้ การผสมสีทั้งสี่นี้ โดยมีสีหลักอย่าง สีดำ เป็นสีที่โดดเด่นอย่างมากเมื่อเราใช้บนพื้นหลังสีขาว และในระบบสี CMYK จะทำให้เกิดสีได้อีกหลายร้อยสีอีกด้วย ซึ่งระบบนี้เหมาะสำหรับใช้กับงานพิมพ์ต่าง ๆ

ที่มา: dribbble.com

การออกปรู๊ฟดิจิตอล

การออกปรู๊ฟดิจิตอลจะออกโดยเครื่องพิมพ์ในระบบ Inkjet คุณภาพสูง ระบบหมึกพิมพ์ 6-10 สี เพื่อจำลองความเป็นไปได้ของสีให้ได้ใกล้เคียงกับการพิมพ์ปกติให้ได้มากที่สุด พิมพ์ลงบนกระดาษโฟโต้อิงค์เจ็ทคุณภาพสูง บางที่จะเรียกว่ากระดาษโกดัก ตัวเครื่องพิมพ์จะมีการ Calibrate สีตลอดเวลาเพื่อให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด แต่ถึงอย่างไรก็ยังเป็นระบบการพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์ Inkjet ความเที่ยงตรงของสีเมื่อเทียบกับระบบพิมพ์แบบออฟเซ็ตอยู่ราว ๆ 90-95% ขึ้นอยู่กับสี บางสีจะมีความเที่ยงตรงมาก 99% ในขณะที่บางสีจะมีความเพี้ยนอยู่เยอะ ปรับความเหมือนอย่างไรก็ทำได้แค่ 90% เท่านั้น ถึงแม้ว่าการออกปรู๊ฟในระบบดิจิตอลจะมีความคลาดเคลื่อนของสีอยู่บ้าง แต่โดยรวม ๆ แล้วถือว่าใช้งานได้ดีพอสมควร

ชนิดของกระดาษที่พิมพ์

กระดาษที่ใช้พิมพ์ ก็เป็นอีกตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้งานสีเพี้ยนได้ เพราะกระดาษแต่ละประเภทมีคุณสมบัติในการดูดซึมสีได้ต่างกัน โดยกระดาษที่นิยมนำมาใช้งานพิมพ์มี 3 ชนิดหลัก คือ กระดาษอาร์ตมัน กระดาษอาร์ตด้าน และกระดาษปอนด์ ซึ่งแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ดังนี้

  • กระดาษอาร์ตมัน เป็นกระดาษที่มีการเคลือบผิวให้มีความเงาวาว และสะท้อนแสดงได้ดี ซึ่งเนื้อกระดาษจะมีความแน่น และดูดซึมหมึกไม่มากเกินไป เนื้อหมึกที่พิมพ์ลงบนกระดาษจะมีมิติ และมีความคมชัด จึงทำให้คุมสีได้ดี มีความคลาดเคลื่อนน้อย สีสว่าง และสดใส
  • กระดาษอาร์ตด้าน เป็นกระดาษที่มีการเคลือบผิวคล้ายกับกระดาษอาร์ตมัน แต่จะมีการจัดหน้าในระดับที่น้อยกว่ามาก จึงไม่มีความเรียบเนียนเท่ากับกระดาษอาร์ตมัน จึงมีคุณสมบัติในการดูดซึมหมึกได้ปานกลาง สะท้อนแสงได้ปานกลาง
  • กระดาษปอนด์ เป็นกระดาษที่มีผิวค่อนข้างขรุขระ ทำให้มีการดูดซึมหมึกเข้าไปมาก จึงควบคุมสีได้ยากกว่า มีการสะท้อนแสงได้น้อย จึงทำให้สีที่ออกมานั้นมีความมืดกว่าด้วย ภาพที่ออกมาบนกระดาษปอนด์จึงมีมิติน้อยที่สุดใน 3 ประเภทที่กล่าวมา

ที่มา: mitchellgraphics.com

ยี่ห้อของกระดาษที่พิมพ์

ยี่ห้อของกระดาษที่พิมพ์ก็มีผลกับสีของงานด้วยเช่นกัน เพราะว่าตัวยี่ห้อจะกำหนดสีพื้นฐานของกระดาษมาเลยว่ากระดาษชนิดนั้นมีสีขาวอมสีอะไร ซึ่งก็จะมีด้วยกัน 2 เฉดสี กระดาษบางยี่ห้อจะเป็นขาวอมฟ้า บางยี่ห้อจะเป็นขาวอมเหลือง ขึ้นอยู่กับแหล่งผลิต ประเทศที่ผลิต ล็อตที่ผลิต ฯลฯ รวมถึงความนิยมพื้นฐานของประเทศต้นทางของยี่ห้อนั้น ๆ ด้วย ดังนั้น ถ้าลูกค้ามีความต้องการชัดเจนว่า ไม่อยากให้กระดาษมีสีเอียงไปทางเฉดไหน สามารถแจ้งกับทางโรงพิมพ์ได้ก่อนล่วงหน้าได้ แต่หากไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าต้องการหลีกเลี่ยงเฉดไหน ทางโรงพิมพ์จะเลือกให้เหมาะสมกับลักษณะของงานนั้น ๆ

การเคลือบงาน

การเคลือบงาน ไม่ว่าจะเป็นการเคลือบด้วยน้ำยาวานิช วอเตอร์เบส หรือน้ำยายูวี หรือการเคลือบด้วยฟิล์ม PVC OPP การเคลือบทุกชนิดมีผลกับสี และความสว่างของภาพอยู่บ้างเล็กน้อย การเคลือบแบบน้ำยาวานิช วอเตอร์เบส ยูวี จะทำให้สีเหลืองเด่นขึ้นเล็กน้อย แต่ภาพโดยรวมจะสีสันสดใสขึ้น ดูสว่างขึ้นนิดหน่อย แต่การเคลือบด้วยฟิล์ม ไม่ว่าจะเป็น PVC หรือ OPP จะทำให้ภาพมืดลงเล็กน้อย สีเข้มขึ้นนิดหน่อย เพราะความหนาของฟิล์มจะดูดซับแสงไปบางส่วน

ที่มา: behance.net

งานบางอย่าง ไม่ใช่งาน 4 สี

งานพิมพ์ตัวอย่างที่ลูกค้านำมาให้โรงพิมพ์ ว่าต้องการสีประมาณนี้ บางทีงานบางประเภทมีการพิมพ์มากกว่า 4 สี CMYK เพียงแต่เราไม่รู้ เพราะดูไม่ออก ซึ่งจุดสังเกตก็คือ ในบางจุดที่มีสีสันสดในกว่าปกติ หรือมีสีที่เข้มจัดจ้านโดดเกินพื้นที่อื่น ๆ ในงาน หรือมีบางจุดบางตำแหน่งที่สีมีความเงาวาวเหมือน Metallic อาจจะใช้เป็นสีเงิน หรือสีทองในการพิมพ์ มีบางตำแหน่งของงานที่มีความสะท้อนแสงออกมา สิ่งเหล่านี้ให้สงสัยไว้ก่อนว่า เป็นการพิมพ์งาน 5 สีขึ้นไป โดยจะเป็นการพิมพ์ 4 สี CMYK + สีพิเศษอีกสีหนึ่ง ดังนั้น ถ้าลูกค้าพิมพ์งาน 4 สี ธรรมดา แล้วเอาตัวอย่างสีแบบงานพิมพ์ 5 สีมาให้ดู ทำยังไงสีก็ไม่มีทางเหมือนกัน

การใช้สีแพนโทน (Pantone) ในงานพิมพ์

ระบบสีแพนโทนเป็นระบบสีอีกระบบที่ไม่ใช่ และไม่เหมือนระบบสี CMYK นำมาใช้ทดแทนกันไม่ได้ เพราะระบบสีแพนโทนมีแม่สีที่ใช้จริง ๆ ถึง 18 สีด้วยกัน ลำพังเพียงแค่ 4 สี CMYK ไม่มีทางที่จะพิมพ์แล้วให้สีตรงกับ Pantone ได้อย่างแน่นอน ยกเว้นเสียแต่ว่าจะพิมพ์งานด้วยระบบแพนโทนไปเลย ซึ่งค่าใช้จ่ายจะสูงมาก ทำให้ทางโรงพิมพ์ส่วนใหญ่จะให้วิธีผสมด้วยแม่สีที่น้อยลง หรือเทียบสีแทน

ที่มา: behance.net

เทียบสีจากตัวอย่างที่พิมพ์จากพริ้นเตอร์

Printer สีที่ใช้กันตามออฟฟิศทั่วไปนั้น ใช้ระบบสี CMYK เหมือนกันกับการพิมพ์ออฟเซ็ทก็จริง แต่ความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในเรื่องของคุณสมบัติของหมึก ทำให้ไม่สามารถเทียบสีด้วยกันได้ หมึกพิมพ์ของพริ้นเตอร์อิงค์เจ็ททั่วไป ตัวหมึกจะเป็นสารละลายแบบน้ำผสมกับสี เวลาพิมพ์จะพ่นเป็นละอองเล็กจิ๋วออกมาแแบบ Droplet ลงไปบนกระดาษโดยตรง แต่การพิมพ์ด้วยหมึกของระบบออฟเซ็ท หมึกของระบบออฟเซ็ทจะเป็นการผสม Pigment เม็ดสีเข้าไปกับตัวปิโตรเลียม Solvent นี่ยังไม่นับด้วยว่าหมึกพริ้นเตอร์ของแต่ละยี่ห้อก็ให้สีไม่เหมือนกัน มีเรื่องของหมึกแท้ไม่แท้อีกด้วย ทำให้สีทั้งระบบสีเทียบสีกันไม่ได้

ประเภทของหน้าจอมอนิเตอร์ (Panel Type) และยี่ห้อ

ประเภทของหน้าจอมอนิเตอร์ ในปัจจุบันมีการใช้งานอยู่ 3 แบบด้วยกัน ทั้ง 3 แบบมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ดังนี้

  • TN : เป็นจอที่มีราคาถูกที่สุด แสดงผลของสีได้น้อย ทำให้มีความแม่นยำเรื่องสีน้อยที่สุด และยังมีข้อจำกัดเรื่องมุมมองภาพ ถ้าไม่ได้มองหน้าจอจากด้านหน้าตรง ๆ จะทำให้เห็นสีผิดจากความเป็นจริงไปมาก ทำให้จอนี้เหมาะกับการเล่นเกมส์ ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในงานกราฟฟิค
  • IPS : เป็นหน้าจอที่มีราคาแพงที่สุด มุมมองสูงสุดอยู่ที่ 178 องศา สามารถมองหน้าจอได้เกือบเอียงข้างโดยที่สียังไม่เพี้ยน ความแตกต่างของสี (Color depth) และความกว้างของช่วงสี (Color gamut) สูงที่สุด นั่นทำให้หน้าจอแบบ IPS นี้ เหมาะกับการใช้งานกราฟฟิคมากที่สุด
  • VA : เป็นจอที่มีคุณภาพ และราคาอยู่ในระดับกลาง มีความแตกต่างของสี (Color depth) และความกว้างของช่วงสี (Color gamut) กลาง ๆ ซึ่งจุดเด่น คือการแสดงค่า Contrast ratio ของสีได้ดีมาก ทำให้การควบคุมแสงในช่วงความสว่าง และความมืดทำได้ดี จึงเหมาะกับเอาไว้ใช้ดูหนัง และงานทั่ว ๆ ไป

ยี่ห้อจอมอนิเตอร์

ยี่ห้อของจอมอนิเตอร์ แต่ละแบรนด์ก็มีลักษณะของสีตั้งต้นมาไม่เหมือนกัน บางยี่ห้อ บางรุ่น เช่น Dell รุ่นแพง ๆ จะมีการ calibrate สี ตั้งค่าสีให้มีความเที่ยงตรงมาจากโรงงานเลย ทำให้สีของหน้าจอไม่ค่อยเพี้ยนมาก ในขณะที่บางยี่ห้อ ก็เหมาะเอาไว้ดูหนังมากกว่าจะมาใช้งานด้านกราฟฟิค สำหรับใครที่ใช้ MacOS ผลิตภัณฑ์ iMac ของ Apple ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ปรับมาใช้หน้าจอแบบ IPS แล้วทั้งหมด พร้อมกับ calibrate สีมาให้เรียบร้อย ทำให้หน้าจอของ Apple จึงเหมาะกับการใช้งานด้านกราฟฟิคเป็นอย่างมาก แต่ผลิตภัณฑ์อย่าง iPhone และ iPad กลับไม่เหมาะ เพราะหน้าจอ iPhone และ iPad รวมถึงหน้าจอมือถือบางยี่ห้อไม่รองรับการแสดงผลด้วย Profile สีบางประเภท รวมถึง Profile สี CMYK ด้วย นั่นทำให้ถ้าเปิดดูงานออกแบบ ใน iPhone หรือ iPad ได้ สีจะเพี้ยนมาก รวมถึงการใช้แอปพลิเคชันบางตัวในมือถือ ก็ไม่ได้ให้ค่าสีที่ถูกต้อง และแม่นยำเท่ากับโปรแกรมใน PC หรือ Mac

ที่มา: techradar.com

สรุป

งานพิมพ์ที่สีที่ไม่ตรงกับสีในไฟล์ ไม่เหมือนกับงานที่ออกแบบไว้ในคอมพิวเตอร์ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกระบบสีก่อนพิมพ์ ชนิดของกระดาษที่พิมพ์ การเคลือบงาน การใช้สี Pantone ในงานพิมพ์ การเทียบสีจากตัวอย่างที่พิมพ์จากพริ้นเตอร์ และประเภทของหน้าจอมอนิเตอร์ ดังนั้น ก่อนจะส่งไฟล์งานให้กับโรงพิพม์ ควรจะตรวจเช็คสิ่งเหล่านี้ให้เรียบร้อย และพูดคุยกับทางโรงพิพม์ให้ละเอียดชัดเจน เพื่อให้ได้งานพิมพ์ออกมามีสีสวยงาม และตรงตามต้องการที่สุด

สำหรับใครที่สนใจอยากพิมพ์เกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ รวมไปถึงการออกแบบต่าง ๆ สามารถติดต่อ โรงพิมพ์ Ricco ของเราได้ เรายินดีให้บริการออกแบบและผลิตสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคูปอง ใบปลิว นามบัตร การ์ด เมนูอาหาร หนังสือ ปฏิทิน กล่องบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ ทุกแบบ ทุกประเภท โดยไม่มีจำนวนจำกัด เรามีทีมกราฟิกที่จะช่วยออกแบบได้ตามที่คุณต้องการ และเรายังมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านงานพิมพ์หนังสือ พร้อมด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทันสมัย รับประกันงานพิมพ์คุณภาพและการบริการที่รวดเร็ว

เกี่ยวกับ Ricco

บริษัท ริคโค จำกัด เริ่มดำเนินธุรกิจเมื่อปี พ.ศ. 2539 เราให้บริการออกแบบ และผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ทุกชนิด ด้วยเครื่องพิมพ์ระบบ Offset และ Digital ที่ทันสมัยที่สุด สามารถรองรับงานพิมพ์ได้หลากหลายประเภท เรามีความเป็นมืออาชีพและครบวงจรทางด้านสื่อสิ่งพิมพ์ (One Stop Service) ด้วยประสบการณ์มากกว่า 24 ปี ทำให้เราสร้างสรรค์งานพิมพ์คุณภาพอยู่เสมอ
ทั้งนี้เรายังมีบริการป้อนข้อมูลหรือบริการคีย์ข้อมูลใบสมัคร แบบฟอร์มต่างๆ บริการจัดการ ปรับปรุง แก้ไข ตรวจสอบฐานข้อมูลเพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลที่มีอยู่ยังคงเป็นข้อมูลที่สมบูรณ์ บริการตรวจสอบข้อมูลตามเงื่อนไข การตลาดทางตรงในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ สามารถเจาะจงลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเราจะสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า เพื่อให้เป็นโรงพิมพ์ที่ลูกค้าไว้วางใจ