เมื่อได้ทำงาน และมีรายได้ ทั้งมนุษย์เงินเดือน และฟรีแลนซ์ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์กำหนด จะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นประจำทุกปี ซึ่งสำหรับปีภาษี 2565 จะมีรายละเอียด และวิธีคำนวณภาษี รวมถึงลดหย่อนอะไรได้บ้าง วันนี้เราก็ได้รวบรวมข้อมูลที่ควรรู้ก่อนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2565 มาสรุปให้ทุกคนแล้วค่ะ
ข้อมูลที่ควรรู้ก่อนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2565
การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามี 2 แบบ ดังนี้
- ภ.ง.ด.90 ผู้ที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ เช่น ค้าขายแบบบุคคลธรรมดา หรือเงินปันผล
- ภ.ง.ด.91 ผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยไม่มีรายได้เสริม เช่น พนักงานบริษัทที่รับเงินเดือนเพียงอย่างเดียว
เอกสารสำคัญที่ต้องเตรียมก่อนยื่นภาษี
- เอกสารหลักฐานแสดงรายได้ หนังสือรับรองเงินเดือน (50 ทวิ) จากนายจ้าง ซึ่งในเอกสาร 50 ทวิจะมีรายละเอียดสำคัญ เช่น รายได้รวมที่แสดงให้เห็นว่า ในปีนั้นเรามีรายได้รวมเท่าไหร่ หรือเงินสมทบประกันสังคมทั้งหมด เป็นต้น
- เอกสารรายการลดหย่อนภาษีกลุ่มต่าง ๆ ที่รวบรวมไว้ตลอดทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ หรือบุตร เบี้ยประกันชีวิต ประกันสุขภาพ เอกสารช้อปดีมีคืน เป็นต้น
ใครต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2565 ?
คนโสด
- กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีรายได้เกิน 120,000 บาท
- กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย เช่น มีรายได้จากการค้าขาย ค่าลิขสิทธิ์ เงินปันผล รายได้จากการเป็นฟรีแลนซ์ ฯลฯ จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
- กรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
คนมีคู่
- กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 220,000 บาท
- กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท
- กรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท
ลดหย่อนภาษีจากอะไรได้บ้าง?
ลดหย่อนภาษี กลุ่มค่าลดหย่อนส่วนตัว และครอบครัว
- ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล ลดหย่อนได้ 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนจากคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ลดหย่อนได้ 60,000 บาท
- ลดหย่อนภาษีบุตร ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท (ไม่จำกัดจำนวนบุตร)
- ลดหย่อนภาษี บุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป ลดหย่อนได้ 30,000 บาทต่อคน (เมื่อรวมกับค่าลดหย่อนบุตรอีก 30,000 บาท เท่ากับลดหย่อนบุตรคนที่ 2 รวม 60,000 บาท)
- ลดหย่อนภาษี ฝากครรภ์ และคลอดบุตร หักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท/การคลอดบุตร 1 ครั้ง
- ลดหย่อนภาษี ค่าเลี้ยงดูอุปการะบิดา-มารดา ลดหย่อนจากบิดา-มารดา (ตัวเอง) และบิดา-มารดาคู่สมรส ได้คนละ 30,000 บาท มากสุดคือ 4 คน ไม่เกิน 120,000 บาท
- ลดหย่อนภาษี ค่าอุปการะคนพิการหรือคนทุพพลภาพ ลดหย่อนได้ 60,000 บาทต่อคน
ลดหย่อนภาษี กลุ่มประกันการออม และการลงทุน
- ลดหย่อนภาษี ประกันสังคม ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง
- ลดหย่อนภาษี ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือเงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิต ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- ลดหย่อนภาษี ประกันชีวิตคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ หักตามจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
- ลดหย่อนภาษี ประกันสุขภาพตัวเอง ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อปี แต่เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิต และเงินฝากสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- ลดหย่อนภาษี ประกันสุขภาพบิดา-มารดา ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
- ลดหย่อนภาษี ประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- ลดหย่อนภาษี SSF หรือ กองทุนรวมเพื่อการออม สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- ลดหย่อนภาษี RMF หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หักลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- ลดหย่อนภาษี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท ส่วนจำนวนเงินที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้ และไม่เกิน 490,000 บาท จะได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้ เพื่อเสียภาษี โดยสามารถนำเงินส่วนเกินนี้ไปหักออกจากเงินได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายได้
- ลดหย่อนภาษี กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
- ลดหย่อนภาษี กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
- ลดหย่อนภาษี กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 13,200 บาท
- ลดหย่อนภาษี เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
ลดหย่อนภาษี กลุ่มอสังหาริมทรัพย์
- ลดหย่อนภาษี ดอกเบี้ยบ้าน ในส่วนของดอกเบี้ยจากเงินกู้ยืมเพื่อการมีที่อยู่อาศัย สามารถใช้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
ลดหย่อนภาษี กลุ่มเงินบริจาค
- เงินบริจาคทั่วไป ตามที่บริจาคจริง แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
- เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม สาธารณประโยชน์ และสถานพยาบาลรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอย่างอื่น
- เงินบริจาคพรรคการเมือง ตามจำนวนที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
วิธีคำนวณภาษีเบื้องต้น
วิธีคำนวณ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามกฎหมายไทยจะคิดเป็นรายปีปฏิทิน (ปีภาษี) โดยต้องใช้ 2 วิธีคู่กันแล้วเลือกใช้วิธีที่คำนวณแล้วเสียภาษีสูงกว่า ได้แก่ วิธีคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ (อัตราภาษีก้าวหน้าแบบขั้นบันได) และวิธีคำนวณภาษีแบบเหมา 0.5%
วิธีคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ (แบบขั้นบันได)
โดยเงินได้สุทธิ สามารถหาได้จากการนำรายได้ทั้งหมดมารวมกัน พร้อมหาค่าลดหย่อนต่าง ๆ เช่น ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน และนำมาหักออกจากรายได้ทั้งหมด เหลือเท่าไรคือเงินได้สุทธิที่จะนำไปคำนวณภาษีแบบขั้นบันได
เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ จากนั้น เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = เงินภาษีที่ต้องจ่าย
อัตราภาษีเงินได้ แบบขั้นบันได
1. เงินได้สุทธิ 0 – 150,000 บาท (อัตราภาษี 0% หรือได้รับการยกเว้นภาษี)
ภาษี = 0
2. เงินได้สุทธิ 150,000 – 300,000 บาท (อัตราภาษี 5%)
ภาษี = (เงินได้สุทธิ – 150,000) x5%
3. เงินได้สุทธิ 300,001 – 500,000 บาท (อัตราภาษี 10%)
ภาษี = [ (เงินได้สุทธิ – 300,000) x10% ] + 7,500
4. เงินได้สุทธิ 500,001 – 750,000 บาท (อัตราภาษี 15%)
ภาษี = [ (เงินได้สุทธิ – 500,000) x15% ] + 27,500
5. เงินได้สุทธิ 750,001 – 1 ล้านบาท (อัตราภาษี 20%)
ภาษี = [ (เงินได้สุทธิ – 750,000) x20% ] + 65,000
6. เงินได้สุทธิ 1,000,001 – 2,000,000 บาท (อัตราภาษี 25%)
ภาษี = [ (เงินได้สุทธิ – 1,000,000) x25% ] + 115,000
7. เงินได้สุทธิ 2,000,001 – 5,000,000 บาท (อัตราภาษี 30%)
ภาษี = [ (เงินได้สุทธิ – 2,000,000) x30% ] + 365,000
8. เงินได้สุทธิมากกว่า 5 ล้านบาท (อัตราภาษี 35%)
ภาษี = [ (เงินได้สุทธิ – 5,000,000) x35% ] + 1,265,000
วิธีคำนวณแบบเหมา 0.5%
วิธีคำนวณแบบเหมา 0.5% จะถูกนำมาใช้ก็ต่อเมื่อคุณมีรายได้ทางอื่นนอกเหนือจากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว โดpการนำรายได้ทางอื่นทั้งหมดที่ไม่ใช่เงินเดือนไปคูณ 0.5% ก็จะได้เป็นค่าภาษี
เงินได้ที่ไม่ใช่เงินเดือน x 0.005 = ค่าภาษี
โดยวิธีนี้มีข้อควรระวัง คือ จะคำนวณจากรายได้ทางอื่น ๆ ทุกทางยกเว้นเงินเดือน และหากคำนวณด้วยวิธีคิดแบบเหมาแล้ว มีภาษีที่ต้องเสียทั้งสิ้นไม่เกิน 5,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษีในวิธีนี้ สุดท้ายให้เปรียบเทียบ และสรุป โดยเปรียบเทียบระหว่าง 2 วิธี คือ วิธีคิดแบบขั้นบันได กับ วิธีคิดแบบเหมา โดยวิธีใดคำนวณแล้ว เสียภาษีสูงกว่า ให้เลือกเสียภาษีตามวิธีนั้น
สรุป
สำหรับการเตรียมเอกสารต่าง ๆ ในการยื่นภาษี ต้องเตรียมเอกสาร และหลักฐานการลดหย่อนภาษีให้ครบถ้วน เพื่อจะได้ยื่นภาษี และขอคืนภาษี 2565 ได้เร็วขึ้น เพราะยื่นเร็วเท่าไหร่ เราก็จะได้เงินภาษีคืนเร็วขึ้นเท่านั้น ซึ่งหากใครต้องการได้เงินคืนภาษีไว ๆ แนะนำให้ยื่นภาษีออนไลน์ และผูกบัญชีพร้อมเพย์กับบัตรประชาชนไว้ล่วงหน้าเลยค่ะ
เกี่ยวกับ Ricco
บริษัท ริคโค จำกัด เริ่มดำเนินธุรกิจเมื่อปี พ.ศ. 2539 เราให้บริการออกแบบ และผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ทุกชนิด ด้วยเครื่องพิมพ์ระบบ Offset และ Digital ที่ทันสมัยที่สุด สามารถรองรับงานพิมพ์ได้หลากหลายประเภท เรามีความเป็นมืออาชีพและครบวงจรทางด้านสื่อสิ่งพิมพ์ (One Stop Service) ด้วยประสบการณ์มากกว่า 24 ปี ทำให้เราสร้างสรรค์งานพิมพ์คุณภาพอยู่เสมอ
ทั้งนี้เรายังมีบริการป้อนข้อมูลหรือบริการคีย์ข้อมูลใบสมัคร แบบฟอร์มต่างๆ บริการจัดการ ปรับปรุง แก้ไข ตรวจสอบฐานข้อมูลเพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลที่มีอยู่ยังคงเป็นข้อมูลที่สมบูรณ์ บริการตรวจสอบข้อมูลตามเงื่อนไข การตลาดทางตรงในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ สามารถเจาะจงลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเราจะสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า เพื่อให้เป็นโรงพิมพ์ที่ลูกค้าไว้วางใจ
รูปภาพ: gobankingrates.com, usatoday.com และ usatoday.com