โรคนิ่วในไต เป็นโรคที่สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในช่วงอายุ 30-40 ปี ซึ่งโรคนี้เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไตทำงานผิดปกติ หากปล่อยทิ้งไว้นานไม่รีบรักษา อาจเกิดการติดเชื้อบ่อยจนเนื้อไตเสีย ไตเสื่อม และไตวายเรื้อรังได้ในอนาคต ซึ่งอาการของนิ่วในไต ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดหลังบริเวณบั้นเอว และอาจปวดอย่างรุนแรง ทานยาแก้ปวดก็ไม่บรรเทา หากใครมีอาการเช่นนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยในทันที และในบทความนี้เราก็จะพาไปทำความรู้จักกับปัจจัยเสี่ยงป่วยนิ่วในไต ที่อันตรายกว่าที่คิด!
รู้จักปัจจัยเสี่ยงป่วยนิ่วในไต หลีกเลี่ยงก่อนไตพัง
นิ่วในไตเกิดจากอะไร?
นิ่วในไต เป็นโรคที่เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุแข็งชนิดต่าง ๆ เช่น แคลเซียมออกซาเลต และบางครั้งอาจเป็นแคลเซียมฟอสเฟต ยูริก เป็นต้น จนกลายเป็นก้อนที่มีชนิด และขนาดแตกต่างกัน โดยมักพบที่บริเวณกรวยไต และระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นผลมาจากปัสสาวะเข้มข้น และตกตะกอนจนกลายเป็นก้อนนิ่วขึ้นมา ซึ่งมีโอกาสเป็นซ้ำได้ และแม้จะเกิดขึ้นในไต แต่ก้อนนิ่วก็มีโอกาสหลุดลงมาในท่อไตจนถึงบริเวณกระเพาะปัสสาวะได้
ที่มา: https://medlineplus.gov/
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไต
- ปัจจัยทางพันธุกรรม โดยผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นนิ่วในไตสูงกว่าคนในครอบครัวปกติ
- ปัจจัยด้านเพศ และอายุ พบการเกิดนิ่วในผู้ชายสูงกว่าผู้หญิง ส่วนใหญ่ในช่วงอายุ 30-60 ปี
- พฤติกรรมดื่มน้ำน้อย จึงทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นสูงขึ้น และเกิดเป็นตะกอนนิ่วได้
- การรับประทานอาหารบางอย่างเป็นประจำ และมากเกินความจำเป็น เช่น อาหารที่มีแคลเซียมสูง มีโปรตีนสูง หรือมีโซเดียมสูง
- ภาวะของต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินไป และการเป็นโรคบางอย่าง เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคอ้วน โรคเบาหวาน
- กลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน เคลื่อนไหวร่างกายน้อย เช่น ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต
- ยาบางชนิด การรับประทานยาบางชนิดจะมีผลต่อการขับสารก่อนิ่วออกมาในปัสสาวะมากขึ้น เช่น วิตามินซี ยาเม็ดแคลเซียม ยาแก้ลมชัก-โทพิราเมท เป็นต้น
ที่มา: https://www.sharp.com/
อาการป่วยของนิ่วในไต
นิ่วในไตมักไม่มีอาการแสดง แต่จะมีอาการแสดงก็ต่อเมื่อมีการติดเชื้อซ้ำซ้อน หรือก้อนนิ่วไปอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ ทำให้มีอาการ ดังนี้
- ปวดหลังหรือช่องท้องส่วนล่างข้างใดข้างหนึ่ง โดยจะปวดเสียด ปวดบิดเป็นพักๆ คล้ายปวดท้องประจำเดือน แต่อาจปวดนานเป็นชั่วโมง หรือเป็นวัน
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
- มีปัสสาวะอาจมีลักษณะขุ่นแดง หรือบางครั้งอาจมีนิ่วก้อนเล็กๆ หรือมีเม็ดทรายปนออกมากับปัสสาวะด้วย
- เมื่อกดบริเวณที่ปวดจะไม่รู้สึกเจ็บ หรือบางครั้งก็อาจรู้สึกสบายขึ้น
- ถ้าก้อนนิ่วตกลงมาที่ท่อไตจะมีอาการปวดในท้องรุนแรง
- หากมีอาการหนัก จะปวดท้องพร้อมกับมีไข้สูง แม้จะรับประทานยาบรรเทาปวดแล้วก็ยังไม่หาย
ที่มา: https://www.aimsindia.com/
การตรวจวินิจฉัยนิ่วในไต
การตรวจวินิจฉัยนิ่วในไตต้องประเมินโดยแพทย์เฉพาะทางเป็นสำคัญ มีหลายวิธี ดังนี้
- ตรวจปัสสาวะ หากพบเม็ดเลือดแดงจำนวนมาก แพทย์อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นนิ่วในไต
- ตรวจเลือด ผู้ป่วยนิ่วในไตมักมีปริมาณแคลเซียมหรือกรดยูริกในเลือดมากเกินไป
- เอกซเรย์ช่องท้อง ช่วยให้แพทย์เห็นก้อนนิ่วบริเวณทางเดินปัสสาวะ
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ช่วยให้แพทย์เห็นก้อนนิ่วขนาดเล็ก
- อัลตราซาวนด์ไต ช่วยตรวจหาก้อนนิ่วในไตได้ชัดเจน
- ตรวจเอกซเรย์ไตด้วยการฉีดสี (IVP) เพื่อวิเคราะห์สาเหตุการเกิดนิ่วในไต และช่วยให้สามารถวางแผนเพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในไตซ้ำ
ที่มา: https://www.healthline.com/
การรักษานิ่วในไต
การรักษาอาการนิ่วในไต ส่วนใหญ่รักษาตามชนิด และสาเหตุ ดังนี้
- การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด หากนิ่วมีขนาดก้อนเล็กมากอาจหลุดออกมาได้เอง โดยการดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อขับออกมาทางปัสสาวะ โดยแพทย์อาจพิจารณาสั่งยาช่วยขับก้อนนิ่วตามความเหมาะสม
- การใช้เครื่องสลายนิ่ว (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy : ESWL) เป็นการสลายนิ่วขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ทำให้ก้อนนิ่วแตกตัว และขับออกมาทางปัสสาวะ ผู้ป่วยอาจเจ็บเล็กน้อย และมีผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมา
- การส่องกล้องสลายนิ่ว (Ureteroscopy) เป็นการสลายนิ่วขนาดไม่เกิน 3 เซนติเมตร โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือที่มีกล้อง Ureteroscopy ติดอยู่ด้วยเข้าไปทางท่อปัสสาวะเพื่อทำให้ก้อนนิ่วแตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อขับออกมาทางปัสสาวะ
- การรักษาแบบผ่าตัด (PercutaneousNephrolithotomy : PCNL) ใช้ในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ และรักษาวิธีอื่นไม่ได้ผล โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดด้วยการเจาะรูเล็ก ๆ บริเวณหลังของผู้ป่วยแล้วใช้กล้องส่องเพื่อนำเครื่องมือสอดเข้าไปทำให้นิ่วแตกเป็นชิ้นเล็ก จากนั้นจึงคีบก้อนนิ่วออกมาทางรูเดิม ซึ่งวิธีนี้ต้องพิจารณา และทำการผ่าตัดโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญเท่านั้น
ที่มา: https://www.halodoc.com/
การป้องกันนิ่วในไต
- ดื่มน้ำให้มากช่วยลดโอกาสการตกตะกอนของก้อนนิ่ว
- กินแคลเซียมจากอาหารธรรมชาติให้เพียงพอ
- เลี่ยงเค็ม ลดเกลือในมื้ออาหาร
- ควบคุมการกินเนื้อสัตว์ นม เนย
- กินผักให้เยอะช่วยลดโอกาสเกิดนิ่ว
ที่มา: https://metro.co.uk/
สรุป
โรคนิ่วในไต เป็นโรคที่เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุแข็งชนิดต่าง ๆ ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยอาการของโรคนิ่วในไต คือ ปวดหลังบริเวณบั้นเอว และอาจปวดอย่างรุนแรง ทานยาแก้ปวดก็ไม่บรรเทา จึงควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย ทั้งนี้การป้องกันไม่ให้เกิดนิ่วในไต ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง คืออย่ากลั้นปัสสาวะ ควรปัสสาวะออกมาให้มากกว่าวันละ 2.5 ลิตร เพื่อป้องกันการตกตะกอนของสารต่าง ๆ รวมไปถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และดูแลตัวเองให้ดีมากขึ้น และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินจะช่วยให้ก้อนนิ่วขนาดเล็กหลุดได้ ดังนั้น อย่าลืมดูแลตัวเองกันด้วยนะคะ
เกี่ยวกับ Ricco
บริษัท ริคโค จำกัด เริ่มดำเนินธุรกิจเมื่อปี พ.ศ. 2539 เราให้บริการออกแบบ และผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ทุกชนิด ด้วยเครื่องพิมพ์ระบบ Offset และ Digital ที่ทันสมัยที่สุด สามารถรองรับงานพิมพ์ได้หลากหลายประเภท เรามีความเป็นมืออาชีพและครบวงจรทางด้านสื่อสิ่งพิมพ์ (One Stop Service) ด้วยประสบการณ์มากกว่า 24 ปี ทำให้เราสร้างสรรค์งานพิมพ์คุณภาพอยู่เสมอ
ทั้งนี้เรายังมีบริการป้อนข้อมูลหรือบริการคีย์ข้อมูลใบสมัคร แบบฟอร์มต่างๆ บริการจัดการ ปรับปรุง แก้ไข ตรวจสอบฐานข้อมูลเพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลที่มีอยู่ยังคงเป็นข้อมูลที่สมบูรณ์ บริการตรวจสอบข้อมูลตามเงื่อนไข การตลาดทางตรงในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ สามารถเจาะจงลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเราจะสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า เพื่อให้เป็นโรงพิมพ์ที่ลูกค้าไว้วางใจ
ข้อมูล: https://www.nakornthon.com/, https://www.bangkokhospital.com/ และ https://www.bumrungrad.com/