Home Blog แอสปาร์แตม (A...

แอสปาร์แตม (Aspartame) อันตรายแค่ไหน และมีอยู่ในอาหารประเภทใดบ้าง ?

ในปัจจุบันคนหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพกันมากขึ้น จึงทำให้หลายคนเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อย่างการปรุงน้อย ๆ ลดเค็ม ลดหวาน แต่อาหาร และเครื่องดื่มทั่วไป ส่วนใหญ่จะมีปริมาณน้ำตาลสูง ทำให้หลายคนหันไปบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของสารทดแทนความหวานแทน แต่ตั้งแต่เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา กลับเริ่มมีผลงานวิจัยออกมาว่า การบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มสูตรไร้น้ำตาล หรือน้ำตาลน้อยเหล่านี้ กลับส่งผลเสียมากกว่าที่คิด เพราะสารนี้สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองในคนเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่บริโภคสารทดแทนความหวานเลย ซึ่งสารทดแทนความหวานชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า แอสปาร์แตม ที่มักพบในน้ำอัดลม น้ำผลไม้ และหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาล อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ด้วย ดังนั้น ในบทความนี้เราก็จะพาไปดูกันว่า แอสปาร์แตม (Aspartame) อันตรายแค่ไหน และมีอยู่ในอาหารประเภทใดบ้าง ถ้าอยากรู้แล้วไปดูกันเลยค่

แอสปาร์แตม (Aspartame) อันตรายแค่ไหน และมีอยู่ในอาหารประเภทใดบ้าง ?

แอสปาร์แตม (Aspartame) คืออะไร ?

แอสปาร์แตม (Aspartame) เป็นสารที่ผลิตขึ้นมาเพื่อเติมรสชาติหวานให้กับอาหาร และเครื่องดื่มแทนน้ำตาลธรรมชาติ ส่วนมากจะให้พลังงานหรือแคลอรี่ต่ำ หรือในบางครั้งก็อาจไม่มีแคลอรี่เลย ซึ่งแอสปาร์แตม คือ กรดอะมิโน 2 ชนิดต่อกัน ได้แก่ กรดฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) และกรดแอสปาร์ติก (Aspartic acid) เป็นกรดที่ได้มาจากการย่อยสารอาหารประเภทโปรตีน โดยลักษณะของแอสปาร์แตมเป็นผงผลึกสีขาวสะอาดไม่มีกลิ่น มีรสหวานคล้ายน้ำตาลซูโครส และเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือน้ำตาลเทียมที่มีรสชาติใกล้เคียงกับน้ำตาลทรายมากที่สุด ทั้งนี้แอสปาร์แตม ยังให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 180-200 เท่าอีกด้วย

แอสปาร์แตม อยู่ในอาหารชนิดใดบ้าง ?

แอสปาร์แตม หรือสารให้ความหวาน นิยมใช้ทดแทนน้ำตาลเพื่อประกอบอาหาร และเครื่องดื่มต่าง ๆ ดังต่อไป

  • เครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล โดยเฉพาะในน้ำอัดลมปราศจากน้ำตาล
  • ผลิตภัณฑ์น้ำตาลเทียมแบบผง ที่ใช้เติมความหวานในเครื่องดื่มหรืออาหารต่าง ๆ
  • ซีเรียลชนิด Sugar Free
  • เบเกอรี่ Sugar Free
  • หมากฝรั่ง หรือลูกอม Sugar Free
  • ไอศกรีม Sugar Free
  • ยาสำหรับเด็กบางชนิด Sugar Free โดยเฉพาะยาแก้ไอ

นอกจากนี้แอสปาร์แตม ยังเป็นสารเพิ่มความหวานตัวเดียวกันกับเครื่องดื่มหรืออาหารที่ระบุสรรพคุณว่า Sugar Free 0% แคลอรีต่ำ ไม่ทำให้อ้วน โดยจะใช้สารตัวนี้ให้ความหวานแทนน้ำตาลนั่นเอง

แอสปาร์แตม อันตรายไหม มีโทษอย่างไร ?

เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา WHO หรือ องค์การอนามัยโลก โดยหน่วยงานวิจัยมะเร็ง หรือ IARC (International Agency for Research on Cancer) ได้มีการประกาศว่า แอสปาร์แตม อาจมีสารทำให้ก่อมะเร็งได้ ซึ่งทาง WHO ได้ระบุว่า การประกาศจัดกลุ่มสารให้ความหวานชนิดแอสปาร์แตมเป็นสารในกลุ่ม 2B ไม่ได้หมายความว่าสารแอสปาร์แตมจะกลายเป็นสารอันตรายที่ห้ามใช้ และปริมาณการบริโภคที่ไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ก็ยังคงมีความปลอดภัย เพราะหากจะรับประทานแอสปาร์แตมเกินกำหนดดังกล่าว เราอาจต้องดื่มน้ำอัดลมที่มีแอสปาร์แตมราว ๆ 200-300 มิลลิกรัม ประมาณ 9-14 กระป๋อง (คำนวณในคนที่มีน้ำหนักตัวประมาณ 70 กิโลกรัม) ซึ่งก็ถือว่าค่อนข้างเป็นไปได้ยากที่ใครจะดื่มน้ำอัดลมมากขนาดนั้นต่อวันได้

นอกจากนี้การรับประทานสารให้ความหวานแทนน้ำตาล โดยเฉพาะแอสปาร์แตม มีส่วนกระตุ้นให้รู้สึกอยากกินน้ำตาลเพิ่มขึ้น และมีผลกระทบต่ออารมณ์เชิงลบ ทำให้นอนไม่หลับ ซึมเศร้า กระตุ้นความตื่นตัว เพิ่มสารที่ก่อให้เกิดความเครียด (Cortisol) รวมถึงเพิ่มอนุมูลอิสระที่มากเกินไป ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของสมอง และสุขภาพของระบบประสาทได้ด้วย ขณะที่บางคนเมื่อรับประทานแล้วอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ผื่นขึ้น อ่อนเพลีย ไปจนถึงภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติได้อีกด้วย ดังนั้น การบริโภคอาหาร และเครื่องดื่มที่มีสารแอสปาร์แตม จึงควรบริโภคแต่พอดี และต้องหมั่นสังเกตตัวเองด้วย

สารให้ความหวานที่ใช้แทนแอสปาร์แตม 

สำหรับคนที่อยากหลีกเลี่ยงน้ำตาลจริง ๆ และต้องการจะใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ที่ไม่ใช่แอสปาร์แตม มีดังต่อไปนี้

  • สตีวิโอไซด์ (Stevioside) เป็นสารที่สกัดมาจากหญ้าหวาน โดยควรจำกัดการบริโภคให้ไม่เกิน 4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน
  • สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลชนิดให้พลังงาน จำพวกน้ำตาลแอลกอฮอล์ เช่น แมนนิทอล, ไซลิทอล, ซอร์บิทอล ที่มักจะพบได้ในหมากฝรั่ง ลูกอม ไอศกรีม เป็นต้น โดยสารให้ความหวานในกลุ่มนี้อาจพบอาการท้องอืดจากกรดแก๊สในลำไส้ หรือกระตุ้นอาการปวดอุจจาระได้ เพราะเป็นน้ำตาลชนิดที่ย่อยได้ช้า และย่อยค่อนข้างยากนั่นเอง
  • น้ำผึ้ง ซึ่งเป็นน้ำตาลจากธรรมชาติ แต่ก็ควรจำกัดปริมาณไม่รับประทานมากจนเกินไป เพราะในน้ำผึ้งก็มีส่วนประกอบของน้ำตาลกลูโคส และฟรักโทส ที่อาจทำให้ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงได้

สรุป

แอสปาร์แตมหรือสารให้ความหวาน นิยมใช้ทดแทนน้ำตาลเพื่อประกอบอาหาร และเครื่องดื่ม ซึ่งการเอาสารแอสปาร์แตมเข้าสู่ร่างกายเป็นจำนวนมาก และเกินปริมาณที่กำหนดในทุก ๆ วัน และยังไม่มีสารอาหารอื่น ๆ รวมทั้งการดูแลสุขภาพที่ไม่เพียงพอ เหตุนี้อาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะทำให้ก่อเกิดมะเร็ง รวมถึงโรคอื่น ๆ ได้เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงต้องดูแลสุขภาพให้ดี โดยการควบคุมปริมาณน้ำตาลหรือความหวานของตัวเอง รวมถึงการรับสารอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำมาก ๆ ออกกำลังกายเป็นประจำ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะช่วยให้คุณมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และห่างไกลจากโรคต่าง ๆ อีกด้วย

เกี่ยวกับ Ricco

บริษัท ริคโค จำกัด เริ่มดำเนินธุรกิจเมื่อปี พ.ศ. 2539 เราให้บริการออกแบบ และผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ทุกชนิด ด้วยเครื่องพิมพ์ระบบ Offset และ Digital ที่ทันสมัยที่สุด สามารถรองรับงานพิมพ์ได้หลากหลายประเภท เรามีความเป็นมืออาชีพและครบวงจรทางด้านสื่อสิ่งพิมพ์ (One Stop Service) ด้วยประสบการณ์มากกว่า 24 ปี ทำให้เราสร้างสรรค์งานพิมพ์คุณภาพอยู่เสมอ
ทั้งนี้เรายังมีบริการป้อนข้อมูลหรือบริการคีย์ข้อมูลใบสมัคร แบบฟอร์มต่างๆ บริการจัดการ ปรับปรุง แก้ไข ตรวจสอบฐานข้อมูลเพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลที่มีอยู่ยังคงเป็นข้อมูลที่สมบูรณ์ บริการตรวจสอบข้อมูลตามเงื่อนไข การตลาดทาง ตรงในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ สามารถเจาะจงลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเราจะสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า เพื่อให้เป็นโรงพิมพ์ที่ลูกค้าไว้วางใจ

ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.thecable.ng/ และ https://www.news-medical.net/